ศิลปินแห่งชาติ
สาขาศิลปะการแสดง(โนรา)
ประจำปี 2564
ผู้ช่วยศาสตราจารย์
ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์
ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ เป็นชาวตำบลนาทวี อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา
ปัจจุบันถ่ายทอดความรู้ศิลปะการแสดง(โนรา) แก่เยาวชนทั่วไป
นายธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ เกิดเมื่อวันเสาร์ 19 กันยายน พ.ศ. 2502 ณ บ้านเลขที่ 153/1 หมู่ที่ 1 บ้านนาทวี ถนนต่างตานุสรณ์ ตำบลนาทวี อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา เป็นบุตรของ นายเพิ่ม นิคมรัตน์ อาชีพ รับราชการครู (ถึงแก่กรรม) และนางสมนึก นิคมรัตน์ อาชีพค้าขาย (ถึงแก่กรรม) เป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 10 คน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ได้รับแรงจูงใจและสนใจในการรำโนรามาตั้งแต่วัยเด็ก เนื่องจากญาติทางฝ่ายมารดา คือ โนราเลี่ยม หน่อรัก (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ได้พูดคุยเรื่องโนราอยู่เป็นประจำ และมีนายนอง สุวรรณรัตน์ (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) เป็นร่างทรงบรรพบุรุษ(ตายายโนรา) ที่ให้ความนับถือ ทั้งสองท่านนี้จะประกอบพิธีกรรมในการแสดงโนราโรงครู ให้ลูกหลานได้ร่วมกิจกรรมเป็นประจำทุกปี ที่บ้านดังหมู ตำบลท่าประดู่ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา
เมื่ออยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ได้มี นางสาวสุภา ฤทธิรงค์ (เพื่อนพี่สาว) นักเรียนโรงเรียนสตรีฝึกหัดครูสงขลา ซึ่งได้ฝึกรำโนรากับท่านขุนอุปถัมภ์นรากร มาพูดแนะนำเกี่ยวกับการสอนโนราสถานศึกษา ก็มีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะรำโนรามากยิ่งขึ้น เพราะเป็นความแปลกใหม่ และเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจแต่ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ สามารถมาเรียนรู้ตามความถนัด และเกิดความรักในการแสดงโนรา
2511-2516 เมื่อศึกษาระดับมัธยมศึกษา รายการส่งเสริมภาษาไทยของ ศ.สุธิวงศ์ พงษ์ไพบูลย์ จะแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 10 (หาดใหญ่) นำท่านขุนอุปถัมภ์นรากรและคณะ เผยแพร่โนราทางโทรทัศน์อยู่เป็นประจำ มีการอธิบายแนะนำถึงรายการแต่ละสัปดาห์ ทำให้สามารถติดตามและชมการรำอยู่เสมอ ท่าร่ายรำที่จดจําได้จะนำไปทดลองฝึกรำเป็นบางท่า คือ การรำบทประถม
2518 ได้เข้ามาศึกษาในวิทยาลัยครูสงขลา เข้าร่วมเป็นสมาชิกชมรมโนรา โดยมี ผศ.สาโรช นาคะวิโรจน์ เป็นครูผู้สอนคนแรก โดยทำการฝึกอยู่เป็นประจำทุกวันพุธ และวันเสาร์ เป็นเวลา1 ปี
2519 ได้แสดงโนราเป็นครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 2 มกราคม 2519 ณ งานบวชพี่ชายอาจารย์วันดี พุทธโชติ บ้านห้วยพุด อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ในนามโนราวิทยาลัยครูสงขลา โดยมี ผศ.สาโรช นาคะวิโรจน์ เป็นหัวหน้าคณะโนรา
2521 ได้ฝึกรำ และร้องบทประถม การรำท่าบทผันหน้า บทสีโต และการรำคล้องหงส์ ซึ่งเป็นการรำเฉพาะอย่าง และเป็นการรำชั้นสูง โดยฝึกรำเพิ่มเติมจาก ผศ.สาโรช นาคะวิโรจน์ จนมีความชำนาญแสดงโนราเผยแพร่แก่ชุมชนอยู่สม่ำเสมอ
2523 มีโอกาสได้ไปพบท่านขุนอุปถัมภ์นรากร โดยการนำของ ผศ.สาโรช นาคะวิโรจน์ ท่านขุนอุปถัมภ์นรากร ให้ความเมตตาสอน แนะนำในเรื่องการเก็บเท้า เก็บเท้าอย่างไรให้สวย แนะนำการร้องบทและสาธิตการร้องให้ฟัง รำให้ดู
2535 ได้ฝึกโนราเพิ่มเติมในการรำท่าบทสีโต ผันหน้า และการรำเพลงทับเพลงโทน จากโนรายกชูบัว ศิลปินแห่งชาติ
2537 ได้ฝึกการขับร้องบทหน้าม่าน บทสีโต ผันหน้า และการรำเพลงทับเพลงโทน จากโนราลั่น ทะเลน้อย